ธุรกิจต้องรู้…’เงินเฟ้อ’ ยูโรโซนที่พุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบเกือบ 10 ปี ส่งผลต่อภาคการลงทุนอย่างไร

โดย นที ดำรงกิจการ

Head of Financial Advisory

Private Banking Group ธนาคารกสิกรไทย

– Advertisement –

อัตราเงินเฟ้อของยูโรโซนในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาพุ่งถึง 3.0% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า อีกทั้งยังเป็นระดับที่สูงที่สุดในรอบเกือบ 10 ปี ปรากฏการณ์ดังกล่าวสร้างความตกใจให้กับตลาดไม่น้อย เนื่องจากเหตุการณ์ลักษณะนี้เคยเกิดขึ้นในสหรัฐฯ เป็นเหตุให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ออกมาเปรยเรื่องการปรับลด QE และเพิ่มโอกาสการขึ้นดอกเบี้ยอ้างอิงของสหรัฐฯ ด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาโดยหลักเศรษฐศาสตร์ “เงินเฟ้อ” เป็นสิ่งที่ปกติ แต่ต้องควบคุมให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมและไม่ผันผวนจนเกินไปเพื่อให้มีเสถียรภาพ ภาวะเงินเฟ้อของยูโรโซนในครั้งนี้เกิดขึ้นเพราะอะไร และจะส่งผลต่อโลกการลงทุนอย่างไร

เราจะมาศึกษาทำความเข้าใจไปพร้อมกัน

ปัจจัยแรกซึ่งสำคัญที่สุดก็คือปริมาณอุปสงค์ที่พุ่งขึ้น จากแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่ชัดเจนยิ่งขึ้นจากการเร่งฉีดวัคซีนของภาครัฐ การเปิดประเทศทำให้ประชาชนออกมาจับจ่ายใช้สอยกันอย่างครึกครื้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มยูโรโซนที่มีอัตราการฉีดวัคซีนครบโดสอยู่ในระดับต้นๆ ของโลก ทำให้ประชาชนเชื่อมั่นที่จะใช้ชีวิตนอกบ้านมากขึ้น ส่งผลให้เกิดอุปสงค์หรือความต้องการสินค้าในอัตราเร่ง หลังจากที่อัดอั้นในช่วงล็อคดาวน์ที่ผ่านมา

ปัจจัยที่สอง คือ การกลับมาเป็นปกติของภาคการขนส่งสินค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางเรือซึ่งเป็นการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศที่มีราคาถูกและเป็นเส้นทางเชื่อมโลกระหว่างตะวันออกและตะวันตก ในช่วงการระบาดของโควิด-19 ในปี 2019 ส่งผลให้ระบบการขนส่งทางเรือหยุดชะงักไป ตัวอย่างที่เห็นชัดก็คือ การที่จีนสั่งปิดท่าเรือซึ่งเป็นจุดที่มีการส่งออกสินค้าเป็นอันดับต้นๆ ของโลกไปยังกลุ่มประเทศตะวันตก ทำให้การขนส่งทางเรือใช้เวลายาวนานกว่าปกติ อาจจะกินเวลากว่า 6 เดือน เกิดภาวะขาดแคลนวัตถุดิบในระบบสายพานการผลิต เนื่องจากจีนเองก็เป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลก ทำให้ระบบการขนส่งเกิดภาวะการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ทำให้ค่าระวางเรือส่งออกเพิ่มสูงขึ้น หมายความว่าต้นทุนการผลิตสูงย่อมขึ้นตาม กระทบต่อราคาสินค้าเครื่องอุปโภคและบริโภคอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ปัจจัยที่สามคือการขาดแคลนวัตถุดิบ อย่าง ชิปเซมิคอนดักเตอร์ ในช่วงการระบาดของโควิด 19 ทำให้บางโรงงานในบางประเทศจำเป็นต้องปิดโรงงานทำให้เกิดภาวะชะงักงันในสายการผลิต การจัดเตรียมวัตถุดิบ คำสั่งซื้อล่วงหน้าที่ผิดไปจากเดิม ส่งผลต่อเนื่องไปยังผู้ผลิตขั้นต้นทำให้การส่งมอบชิปไปยังโรงงานทำไม่ได้ดีพอ เราจะได้ยินข่าวว่าโรงงานผลิตรถยนต์บางแห่งต้องปิดโรงงานเพราะขาดชิปที่เป็นสมองกลสำคัญในการควบคุมระบบรถยนต์ในปัจจุบัน

ธุรกิจต้องรู้…’เงินเฟ้อ’ ยูโรโซนที่พุ่งระดับสูงสุดในรอบเกือบ 10 ปี
ปัจจัยสุดท้ายซึ่งถือได้ว่าเป็นปัจจัยเฉพาะตัว นั่นก็คือฐานที่ใช้คำนวณในปีก่อนหน้าของประเทศเยอรมัน ซึ่งเป็นหนึ่งสมาชิกในกลุ่มอียู ได้มีการหั่นภาษีมูลค่าเพิ่มลงเพื่อช่วยภาคครัวเรือนในช่วงล็อคดาวน์เพื่อให้ราคาสินค้าถูกลง แต่ในปีนี้ที่ภาพรวมดีขึ้นทำให้ทางการกลับมาเก็บภาษีเพิ่มขึ้น จึงทำให้ความต่างในการเปรียบเทียบปีต่อปีค่อนข้างสูง ทั้งนี้การคำนวณอัตราเงินเฟ้อของยูโรโซนจะคำนวณโดยอาศัยตะกร้าน้ำหนักของแต่ละประเทศสมาชิก ซึ่งเยอรมันจะมีน้ำหนักในส่วนนี้สูงที่สุด

เมื่อพิจารณาจากปัจจัยข้างต้นแล้ว ล้วนเป็นเพียงปัจจัยชั่วคราว ทำให้ประเมินได้ว่าแนวโน้มเงินเฟ้อในอนาคตจะไม่ทรงตัวอยู่ในระดับที่สูงเป็นเวลานาน สอดคล้องกับประมาณการณ์ที่ธนาคารกลางยุโรปที่ประเมินว่าเงินเฟ้อในปีนี้จะเฉลี่ยอยุ่ที่ระดับ 2.20% และเหลือเพียง 1.70% ในปีหน้า

ทั้งนี้ KBank Private Banking ยังคงเชื่อว่า ธนาคารกลางยุโรปน่าจะยังคงภาวะดอกเบี้ยต่ำต่อไปอีกระยะ ในขณะที่การเสริมสภาพคล่องสู่ตลาดด้วยโปรแกรม QE ยังคงดำเนินต่อไป แม้โครงการซื้อสินทรัพย์ฉุกเฉินเพื่อรับมือกับโรคระบาดจะสิ้นสุดในเดือนมีนาคมปีหน้า จากภาพรวมเศรษฐกิจยุโรปที่สดใส และนโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย KBank Private Banking ยังคงคำแนะนำการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง อย่าง หุ้นยุโรป อย่างต่อเนื่อง

ขอบคุณแหล่งที่มา : businesstoday.co